4 กิจกรรมเสริมพัฒนาการ เพิ่มความฉลาดให้ลูกน้อยในครรภ์

“ในช่วงการตั้งครรภ์” เป็นช่วงที่คุณแม่ทั้งหลายต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และหากิจกรรมที่ช่วยกระตุ้น “พัฒนาการของลูกในครรภ์” เพื่อให้รู้การเคลื่อนไหวของเขาในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง  หรือมีวิธีการดูแลสุขภาพให้ดีต่อลูกในครรภ์อย่างไร

เพราะฉะนั้นวันนี้ คุณแม่โคโคโร่มาหากิจกรรมเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยในครรภ์ไปพร้อมๆ กับแอดมินโคโคโร่ โตเกียวกันดีกว่า เพื่อให้ลูกคลอดออกมามีความสมบูรณ์แบบในทุกด้านกันค่ะ 😉

พัฒนาการของลูกตลอดช่วงการตั้งครรภ์ 9 เดือน

ช่วงเดือนที่ 1-3 : เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มมีการปฏิสนธิไข่ และฝังตัวอยู่ในผนังมดลูก และเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไปร่างกายจะเริ่มสร้างอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญขึ้นมา

ช่วงเดือนที่ 4-5 : เป็นช่วงที่ลูกน้อยที่เริ่มโตขึ้น และสามารถจดจำหรือแยกแยะเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้

ช่วงเดือนที่ 6-7 : เป็นช่วงที่เซลล์ประสาทภายในสมองของทารก มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และจะเริ่มลืมตา หรือกะพริบตาเมื่อเห็นแสง บางครั้งอาจดิ้นแรงจนคุณแม่รู้สึกได้

ช่วงเดือนที่ 8-9 (32-36 สัปดาห์) : เป็นช่วงที่ลูกอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอด หรืออวัยวะทุกส่วนเติบโตเต็มที่ และพร้อมที่จะคลอดได้ตลอดเวลา

กิจกรรมเสริมพัฒนาลูกน้อยในครรภ์  ให้ฉลาดตั้งแต่อยู่ในครรภ์

1. พูดคุยกับลูก
เด็กสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ ซึ่งระบบการได้ยินของลูกน้อยนั้น จะเริ่มพัฒนาเมื่ออายุครรภ์ 24 – 26 สัปดาห์ขึ้นไป โดยจะเริ่มได้ยินเสียงหัวใจ และจดจำเสียงของคุณพ่อหรือคุณแม่ได้

ดังนั้นคุณพ่อหรือคุณแม่อาจจะเรียกชื่อน้อง หรือเป็นคำพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น พ่อแม่รักน้องนะ วันนี้เป็นไงบ้างลูก อีกไม่กี่เดือนเราจะเจอกันแล้วนะ โดยคุณแม่ควรจะพูดบ่อยๆ และใช้โทนเสียงที่นุ่มนวล หรือเป็นประโยคซ้ำๆ เพื่อให้เขารู้สึกคุ้นชินกับคำต่างๆ ที่สื่อสารออกไป

2. เปิดเพลง
คุณพ่อคุณแม่อาจจะร้องเพลงเอง หรือเปิดหาเพลงให้ลูกฟังก็ได้ แต่ควรเปิดวันละครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที และควรเปิดเพลงให้อยู่ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต หรือเปิดเสียงดังพอประมาณ

ควรเลือกดนตรีคลาสสิกที่มีท่วงทำนองฟังสบาย เพื่อช่วยกระตุ้นการได้ยิน หรือเพิ่มไอคิว เสริมสร้างพัฒนาการที่ดี เมื่อคลอดลูกออกมาจะเรียนรู้ง่ายขึ้น การรับรู้ความสนใจต่อสิ่งภายนอกจะไวขึ้น ไม่งอแง สงบ หรือจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี และเสียงเพลงสามารถช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายได้อีกด้วยนะคะ

3. ลูบท้องหน้าเบาๆ
ปกติแล้วคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์มักจะลูบหน้าท้องของตัวเองอยู่เสมอ ๆ เพื่อพูดคุยหรือสัมผัสกับลูกในขณะที่อยู่ในครรภ์ สามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป และคุณแม่ควรทำทุกวัน เพื่อสร้างความคุ้นชินให้ลูกสงบหรืออารมณ์ดี

โดยการเอามือสัมผัสวนไปรอบๆหน้าท้องจากบนลงล่าง หรือจากล่างขึ้นบนก็ได้ เพราะในเวลาที่คุณพ่อคุณแม่สัมผัสน้องจะรับรู้จากสัมผัสนี้ได้ผ่านทางหน้าท้อง และผิวของทารกจะสัมผัสกับมดลูก ทำให้ในบางครั้งคุณแม่อาจจะสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกตามมือที่ลูบ เสมือนกับเรากำลังเล่นกับเขาอยู่นั่นเองค่ะ

4. ส่องไฟฉายส่องท้อง
การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมอง และเส้นประสาทส่วนรับภาพหรือการมองเห็นมีพัฒนาดีขึ้น สามารถทำได้ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน เพราะทารกในครรภ์สามารถลืมตา กระพริบตา และแยกความแตกต่างระหว่างความมืดหรือความสว่างได้แล้ว

แสงไฟที่ใช้ส่องจะต้องไม่เป็นแสงที่แรงสูงเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเปิดหรือปิดไฟแบบเป็นจังหวะ โดยเคลื่อนไปมาซ้าย ขวา ผ่านทางหน้าท้องไปยังน้ำคร่ำ ทำวันละ 5-10 ครั้ง ประมาณ 1-2 นาที ในบางครั้งลูกอาจจะมีการตอบสนองแสงไฟด้วยการดิ้นให้คุณแม่รับรู้ได้


คุณแม่อารมณ์ดีสุขภาพของลูกในครรภ์ก็ดีด้วย

ในช่วงตั้งครรภ์นอกจากการหากิจกรรมเสริมพัฒนาการ หรือการเลือกกินอาหารที่มีโยชน์แล้ว สิ่งจำเป็นอีกอย่างที่คุณแม่ต้องระวังก็คือ “ความเครียด”  

เพราะเมื่อคุณแม่อยู่ในภาวะเครียด สารแห่งความเครียดก็จะหลั่งออกมา ไม่ว่าจะเป็น คอร์ติซอล (Cortisol) หรือ อะดรีนาลีน (Adrenalin) ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโต หรือระบบประสาท แต่หากคุณแม่มีอารมณที่แจ่มใส ร่าเริง ฮอร์โมนแห่งความสุขหรือเอนโดร์ฟีน (Endorphin) ก็จะหลั่งออกมาจะช่วยให้เด็กในท้องมีอารมณ์ดี และเมื่อคลอดออกมาก็จะเลี้ยงง่าย

โคโคโร่ โตเกียวขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก การดูแลครรภ์ ให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่ในครรภ์ | โรงพยาบาลเปาโล – Paolo Hospital

%d